เตือนอันตรายเครื่องถ่ายเอกสาร สารเคมีเพียบ

 

 

                                 1l_副本

 

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เครื่องถ่ายเอกสารที่ใช้ในสำนักงาน สามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพต่อผู้ใช้งานเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำหน้าที่ถ่ายเอกสาร เนื่องจากเครื่องถ่ายเอกสารมีกลิ่นสารเคมี และแสงจากเครื่องในขณะที่ถ่ายเอกสารเข้าดวงตาเสมอ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ที่ใช้งานในระยะยาวได้

 

สิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายจากการใช้เครื่องถ่ายเอกสาร ประกอบด้วย โอโซน (Ozone)และแสง UV จากหลอดไฟฟ้าพลังงานสูงของเครื่องถ่ายเอกสาร โดยผลกระทบจากการได้รับโอโซนในระดับความเข้มข้น 0.25 ppm ขึ้นไป จะทำให้ระคายเคืองต่อตา จมูก คอ หายใจสั้น วิงเวียนและปวดศีรษะ มีอาการล้า และสูญเสียการรับรู้กลิ่น โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคระบบหายใจ เช่น โรคหอบหืด ไม่ควรสัมผัสโอโซน

 

ส่วนรังสี UV จากหลอดไฟฟ้าพลังงานสูง จะทำให้มีอาการปวดศีรษะ แสบตา กระจกตาอักเสบ เกิดผื่นคันตามผิวหนัง อันตรายถัดมา คือ  ผงหมึก มีทั้งแบบผงคาร์บอนดำ 100 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับพลาสติกเรซิน ในเครื่องถ่ายเอกสารระบบแห้ง และผงหมึกละลายในสารอินทรีย์ประเภทปิโตรเลียม ในเครื่องถ่ายเอกสารระบบเปียก

 

ทั้ง 2 แบบ เป็นสารเคมีที่เป็นอันตราย จึงต้องระมัดระวังขณะเติมหมึก รวมทั้งขณะทำความสะอาดหรือกำจัดฝุ่นผงหมึกที่ใช้แล้ว และหลีกเลี่ยงการสัมผัสผงหมึกหรือสูดดมเอาผงหมึกเข้าสู่ร่างกาย หากพบผงหมึกเปื้อนติดกระดาษจำนวนมาก ควรหยุดการทำงานของเครื่องถ่ายเอกสาร แล้วติดต่อบริษัทเพื่อซ่อมบำรุง เพราะหากสูดดมผงหมึกทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ มีอาการไอ จาม

 

สำหรับสารเคมีอื่นๆ เช่น เซเลเนียม แคดเมียมซัลไฟด์ ซิงค์ออกไซด์ และโพลิเมอร์บางตัว เคลือบไว้ที่ลูกกลิ้งในเครื่องถ่ายเอกสาร มีลักษณะเป็นสารเรืองแสง ระเหยออกมาได้ในระหว่างถ่ายเอกสาร โดยปกติปริมาณสารเคมีเหล่านี้มีน้อยเกินกว่าจะตรวจสอบได้

 

หากสูดดมสารเซเลเนียม เข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ตา เยื่อเมือกกระเพาะอาหาร หากรับเข้าสู่ร่างกายมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการลิ้นเฝื่อน  มีอาการล้า อาหารไม่ย่อย วิงเวียนศีรษะ และเมื่อได้รับในระดับความเข้มข้นสูงจะเป็นอันตรายต่อตับและไต  ส่วนแคดเมียมเป็นสารก่อมะเร็ง จะถูกปล่อยออกจากเครื่องถ่ายเอกสารน้อยกว่าเซเลเนียม แต่เป็นอันตรายมากกว่า

 

ทางด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผู้ใช้เครื่องถ่ายเอกสารต้องรู้จักวิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัยเมื่อถ่ายเอกสารทุกครั้งควรปิดฝาครอบให้สนิท พร้อมทั้งติดตั้งพัดลมดูดอากาศเฉพาะที่ในห้องถ่ายเอกสาร สวมถุงมือขณะเติมหรือเคลื่อนย้ายผงหมึกควรใส่หน้ากากกันฝุ่นเคมีโดยผงหมึกที่ใช้แล้วหรือผงหมึกที่หกตามพื้นในขณะที่เติมต้องนำไปกำจัดลงในภาชนะที่ปิดมิดชิด

 

อีกทั้งควรบำรุงรักษาเครื่องเป็นประจำ และให้ตั้งเครื่องถ่ายเอกสารแยกไว้ที่มุมห้องที่ไกลจากคนทำงาน และผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายเอกสาร ควรได้รับการแนะนำอบรมวิธีการใช้ การเปลี่ยนผงหมึกรวมทั้งการกำจัดผงหมึก ตลอดจนผู้ซ่อมบำรุงเครื่องถ่ายเอกสารควรสวมถุงมือแบบใช้แล้วทิ้ง  และหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับลูกกลิ้งด้วย

 

 

 

 

 

เตือนอันตรายเครื่องถ่ายเอกสาร สารเคมีเพียบ.  (2558, 1 มิถุนายน).  มติชน.

           สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน  2558.  จาก http://www.matichon.co.th.